วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สาธิตการเขียนภาพทิวทัศน์

๏ วาดภาพสีน้ำ...สไตล์...ภาณุพงศ์ ๏
เทคนิค : ลายเส้นสีน้ำ (ปากกาหมึกดำและสีน้ำ)

สาธิตการเขียนภาพทิวทัศน์ประเภทสวนสาธารณะจากสถานที่จริง
เทคนิค : ลายเส้นสีน้ำ (ปากกาหมึกดำและสีน้ำ)
สถานที่ : สวนสราญรมย์
โดย : ภาณุพงศ์ ชงเชื้อ

๏ วาดภาพสีน้ำ...สไตล์...ภาณุพงศ์ ๏

ต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมเป็นครูสอนศิลปะที่สอนเกี่ยวกับวิชา การออกแบบตกแต่งมาโดยตลอดถึงปัจจุบัน เพราะศึกษาจบทางด้านนี้มา... นานมากแล้ว จนกระทั่งระยะหลังผมมาสนใจการ วาดภาพลายเส้นด้วยปากกา โดยมี ทิวทัศน์ ณ สถานที่จริง เป็นต้นแบบในการฝึกฝนมาโดยตลอด จนกระทั่งเพิ่งจะมาเริ่มศึกษา การวาดภาพสีน้ำ เมื่อช่วงประมาณ 3 – 4 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยได้รับการถ่ายทอดจากอาจารย์ท่านหนึ่ง ปัจจุบันท่านสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย....เพาะช่าง ชื่อ อาจารย์นพดล เนตรดี (ขอเอ่ยถึงสถาบัน และชื่ออาจารย์นะครับ) ซึ่งตอนนั้นไปเรียนเป็นคอร์สสั้นๆ 2 -3 วันเท่านั้น จากนั้นก็กลับมาพัฒนาต่อเอง จนมีแนวทางเป็นแบบอย่างของผมเองในปัจจุบัน...ดี ไม่ดี น่าสนใจหรือไม่ อย่างไรก็สุดแท้แต่จะพิจารณา ผมพร้อมที่จะรับฟังทุกคำติชม และทุกข้อคิดเห็น เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงผลงานให้เกิดความสมบูรณ์ต่อไป...ครับ

และ.... วันนี้ผมจึงขอนำความรู้เกี่ยวกับ.... ภาพวาดสีน้ำ โดยใช้ เทคนิคลายเส้น – สีน้ำ มาแนะนำให้กับที่ผู้สนใจ โดยเฉพาะนักเรียนระดับปวช. ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาศิลปะ หรือผู้ที่กำลังเริ่มเรียนสีน้ำ ซึ่งพอมีพื้นฐานกันบ้างแล้ว รวมทั้งมีความต้องการที่จะเรียนรู้การวาดภาพระบายสีน้ำอีกลักษณะหนึ่ง ก็ลองมาศึกษาตามขั้นตอน...ตามสไตล์แบบของผมดูนะ

ก่อนอื่น.... ควรเตรียมวัสดุ และอุปกรณ์สำหรับการสร้างสรรค์ผลงานให้พร้อม....





๏ วัสดุ – อุปกรณ์ ๏
1. กระดานรองเขียน พร้อมตัวหนีบกระดาษ
2. กระดาษ 100 ปอนด์ ชนิดหยาบ ขนาด 38 ซ.ม. × 56 ซ.ม.
3. นิตโต้เทป
4. ดินสอร่างภาพ
5. ปากกาสีดำหัวสักหลาดชนิดกันน้ำ (เช่น ยี่ห้อ Pigma หรือยี่ห้ออื่นๆ )
6. พู่กันสำหรับระบายสีน้ำขนาดต่างๆ (ใหญ่ กลาง เล็ก) แบบกลม หรือ แบนก็ได้ตามถนัด
7. สีน้ำ
8. จานสี
9. สเปรย์พ่นน้ำ
10. กาวกั้นสีน้ำ
11. ขาหยั่งรองกระดาน และเก้าอี้นั่งสำหรับเขียนภาพ (อาจมีหรือไม่มีก็ได้)




๏ การสร้างสรรค์ผลงาน ๏
มี 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นเตรียมวัสดุ - อุปกรณ์
2. ขั้นร่างภาพ
3. ขั้นระบายสี
4. ขั้นเก็บรายละเอียด




ขั้นเตรียมวัสดุ - อุปกรณ์ ๏

1.เตรียมกระดาษ100 ปอนด์ ชนิดหยาบ (หรือกระดาษสำหรับงานสีน้ำโดยเฉพาะ) ขนาด 38 ซ.ม. × 56 ซ.ม. แล้วกั้นขอบด้วยนิตโต้เทปทั้ง 4 ด้าน นำไปวางบนกระดานรองเขียน แล้วยึดด้วยตัวหนีบกระดาษ (อาจใช้ขาหยั่งรองกระดาน และเก้าอี้นั่งสำหรับเขียนภาพ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่ มุมมองที่เลือกปฏิบัติการ)




ขั้นการร่างภาพ ๏

2.ร่างภาพด้วยดินสอ แล้วตัดเส้นด้วยปากกาหัวสักหลาด เช่น ยี่ห้อ.....หรืออื่นๆ หรือโดยอาจจะร่างภาพด้วยปากกาดังกล่าวเลยก็ได้ (ถ้ามีความมั่นใจ ชำนาญ และแม่นยำ)
3.นำพู่กันจุ่มกาวกั้นสีน้ำ มาสะบัด แต้ม เคาะ (ตามเทคนิคที่ต้องการใช้) ลงบนภาพที่ร่างไว้ ณ ตำแหน่งหรือบริเวณที่ต้องการ รอจนกาวแห้งให้สังเกตจุดขาวๆ ที่ปรากฏในภาพ นั่นคือ กาวกั้นสีน้ำ ซึ่งจะเป็นส่วนที่ไม่ถูกสีขณะระบายสี (สำหรับพู่กันที่ใช้ในขั้นตอนนี้ควรเป็นพู่กันที่จะเก็บไว้ใช้ร่วมกับกาวกั้นสีในงานครั้งต่อๆ ไปโดยเฉพาะ)







ขั้นระบายสี ๏

4.ขั้นระบายสี เริ่มระบายที่ส่วนบนของภาพก่อน คือ ส่วนท้องฟ้า โดยทำให้มีน้ำหนักอ่อน กลาง เข้ม ตามที่สังเกตเห็นจากต้นแบบจริง (เท่าที่สังเกตได้) แล้วนำมาถ่ายทอดลงบนภาพ






5.ระบายสีในตำแหน่งที่เป็นต้นไม้อย่างคร่าวๆ โดยรวม ยังไม่ต้องเน้นรายละเอียด ทั้งกลุ่มต้นไม้ที่อยู่ระยะใกล้ กลาง ไกล เพื่อให้ปรากฏเป็นตำแหน่งของต้นไม้ในแต่ละระยะโดยรวมก่อน อาจใช้สเปรย์พ่นน้ำพ่นลงบนสีกลุ่มต้นไม้ที่ระบายไปแล้วดังกล่าวตามตำแหน่งที่ต้องการ เพื่อให้เกิดความซึมซับ ความผสมผสานของสี ขณะที่กลุ่มต้นไม้ที่อยู่ใกล้ที่สุด (ส่วนล่างของภาพ) ยังไม่ต้องระบายสี







6.ระบายสีในตำแหน่งที่เป็นส่วนอาคาร / รายละเอียดของอาคารด้านในสุด โดยวิธีการระบายสีอย่างคร่าวๆ โดยรวม ยังไม่ต้องเน้นรายละเอียด พยายามสังเกตสี / รายละเอียดอื่นๆ ของอาคารจากต้นแบบจริง เท่าที่สังเกตได้ แล้วนำมาถ่ายทอดลงบนภาพ




7.ระบายสีส่วนลำต้นของต้นไม้ กิ่งก้านของต้นไม้อย่างคร่าวๆ โดยรวม ยังไม่ต้องเน้นรายละเอียด เพื่อให้ได้ลักษณะของต้นไม้ แต่ละชนิด แต่ละประเภท ที่มีเค้าโครงรูปร่างชัดเจนมากขึ้น

8.เก็บรายละเอียดในส่วนของต้นไม้ แต่ละชนิด แต่ละประเภทให้ชัดเจนขึ้น เช่น เน้นลักษณะใบไม้ กลุ่มใบไม้ ที่สำคัญอย่าลืมเรื่อง ความเข้ม กลาง อ่อนของสีใบไม้ด้วย




9.เพิ่มน้ำหนักของสีแต่ละส่วนที่ระบายอย่างคร่าวๆ ไปแล้ว ให้มีน้ำหนักเข้มขึ้น เช่น กลุ่มต้นไม้ส่วนหลัง และกลุ่มต้นไม้ส่วนกลาง ขณะเดียวกันก็อาจใช้สเปรย์พ่นน้ำ พ่นลงบนสีที่ระบายแล้วนั้นตามลงไป ณ ตำแหน่งที่ต้องการ เพื่อให้เกิดความซึมซับ ความผสมผสานของสี






10.ระบายสีเพิ่มเติมรายละเอียดต้นไม้ให้ชัดเจนขึ้น ในส่วนลำต้น กิ่งก้าน และส่วนใบ รวมไปถึงระบายสีส่วนประกอบอื่นๆ ในภาพ เช่น เก้าอี้ เสาชิงช้าจำลอง เป็นต้น








11.ระบายสีกลุ่มต้นไม้ที่อยู่ใกล้ที่สุด (ส่วนล่างของภาพ) สำหรับตัวอย่างที่นำมาสาธิตนี้ ของจริงต้นแบบเป็นกลุ่มไม้ดอกจึงใช้สีโทนอ่อน แล้วแทรกสีของดอกไม้ลงไป







ขั้นเก็บรายละเอียด ๏

12.ลอกกาวกั้นสี (จุดขาวๆ) ในภาพ โดยการใช้นิ้วถูออกไป




13. เขียนชื่อผู้วาดแบบลายเซ็น (เพราะจะดูเหมาะสมกับผลงานศิลปะ) วันที่ หรืออาจมีชื่อภาพตามต้องการ แล้วแกะนิตโต้เทปทั้ง 4 ด้านของกระดาษออก ก็จะได้ภาพผลงานเทคนิคลายเส้น – สีน้ำ ซึ่งจะเป็นภาพเดียวในโลก





๏ สรุป ๏

เป็นอย่างไรบ้างครับ.... การวาดภาพสีน้ำ โดยเทคนิคลายเส้น – สีน้ำ ตามสไตล์ของผม คงไม่อยากเกินความสามารถของผู้สนใจหรอกนะ.... เพราะทุกๆ คนย่อมมีแบบอย่างลักษณะเฉพาะจุดเด่นที่เป็นความสามารถของตัวเองอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าความสามารถนั้นจะถูกนำมาแสดงออกเมื่อใดเท่านั้นเอง.... อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า.... แบบอย่างลักษณะเฉพาะของแต่ละคนนั้น จะถูกค้นพบได้ก็ต่อเมื่อมีความมุ่งมั่นในการ....
1. หารูปแบบแนวทางการระบายสีน้ำที่ตนเอง สนใจ ประทับใจ.... แล้ว....
2. นำมา ฝึกฝน ลองผิดลองถูก ตามอย่าง และประยุกต์ บ่อยครั้งๆ.... และที่สำคัญที่สุด คือ....
3. ให้นำ เทคนิค – ความถนัดส่วนตัว มาใช้ให้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการใช้ลายเส้น เทคนิคการระบายสี โทนสีที่ชอบ การถ่ายทอดเรื่องราวภาพที่ตนถนัด เช่น ถนัดการมองมุมกว้างก็วาดสิ่งที่เห็นจากต้นแบบมาแสดงในภาพมากๆ หรือถนัดการวาดวัตถุต้นแบบบางส่วน บางชิ้น ก็นำส่วนนั้นเป็นจุดเด่นแสดงรายละเอียดให้ชัดเจน มากกว่าส่วนอื่นๆ เป็นต้น

ทั้ง 3 ข้อนี้.... นำมาผนวก ผสมผสานกันให้ลงตัว
รับรองว่าสัมฤทธิ์ผลอย่างแน่นอน.

ภาณุพงศ์.